อาการปวดเป็นภาวะที่มีความซับซ้อน ไม่เพียงแต่กระแสประสาทรับความรู้สึก (nociception) ยังมีในส่วนขององค์ประกอบทางอารมณ์ร่วมด้วย (emotional component)
การแบ่งประเภทของการเจ็บปวดแบ่งได้ดังนี้
  • ความเจ็บปวดมากถึงปวดรุนแรง (severe-to-excruciating) ได้แก่ สมองขาดเลือด เนื้องอกในสมอง การผ่าตัดกระดูกที่ทำให้เนื้อเยื่ออ่อนเสียหายมาก การผ่าตัดเอาช่องหูออก ตับอ่อนอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ มะเร็งกระดูก การเจ็บปวดจากระบบประสาท เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การผ่าตัดไขสันหลัง การผ่าตัดตัดขาออก การถูกไฟไหม้ เป็นต้น
  • ความเจ็บปวดปานกลางถึงเจ็บปวดมาก (moderate-to-severe) ได้แก่ ข้ออักเสบจากภาวะภูมิคุ้มกัน การบาดเจ็บ (trauma) ท่อปัสสาวะอุดตัน ท่อน้ำดีอุดตัน ต้อหิน การบิดของอวัยวะภายใน เต้านมอักเสบ แผลหลุมที่กระจกตา หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท เยื่อบุช่องท้องและช่องท้องอักเสบ มะเร็งช่องปาก การคลอดยาก การผ่าตัดก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ เป็นต้น
  • ความเจ็บปวดปานกลาง (moderate) ได้แก่ การผ่าตัดทำหมันเพศเมีย การผ่าตัดแบบส่องกล้อง กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ข้อต่ออักเสบ เป็นต้น
  • ความเจ็บปวดน้อยถึงปานกลาง (mild-to-moderate) ได้แก่ โรคทางช่องปาก แผลทั่วไป การผ่าตัดทำหมันเพศผู้ การเกิดก้อนหนองที่ผิวหนัง เป็นต้น
ยาที่นำมาใช้เพื่อระงับความเจ็บปวดในสุนัข มักจะเป็นยาในกลุ่ม opioids และ ยาในกลุ่ม non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs)
1. ยากลุ่ม opioids มักใช้ระงับอาการปวดปานกลางถึงปวดมาก ผลการลดปวดขึ้นกับขนาดของยา (dosage) และวิถีการบริหารยา (route of administration) ยากลุ่มนี้มักเป็นหนึ่งในยาที่ใช้ร่วมกับยาตัวอื่นที่ออกฤทธิ์ลดปวด แต่กลไกการออกฤทธิ์ลดปวดต่างกัน (multimodal protocol)
การออกฤทธิ์ของยากลุ่ม opioids คือ ตัวยาจับกับตัวรับชนิดมิว (µ-opioid receptors) ในระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทส่วนปลาย ทำให้การปลดปล่อยสารสื่อประสาทจากเส้นใยประสาทขาขึ้นที่ส่งมาจากไขสันหลังถูกยับยั้ง ส่งผลให้การกระตุ้นความเจ็บปวดลดลง
ยากลุ่ม opioids ที่ใช้ในสุนัข ได้แก่
  • Morphine ขนาดยา 0.3-1 mg/kg ทุก 2-4 ชั่วโมง ทางการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ควรระวังหากมีการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เพราะสามารถกระตุ้นการหลั่ง histamine ได้
  • Meperidine หรือ pethidine ขนาดยา 3-5 mg/kg ทุก 1-2 ชั่วโมง ทางการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
  • Methadone ขนาดยา 0.5-1 mg/kg ทุก 3-4 ชั่วโมง ทางการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือ ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
  • Oxymorphone ขนาดยา 0.05-0.2 mg/kg ทุก 4 ชั่วโมง ทางการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือ ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
  • Hydromorphone ขนาดยา 0.05-0.2 mg/kg ทุก 2-6 ชั่วโมง ทางการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือ ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
  • Tramadol ขนาดยา 4-6 mg/kg ทุก 6-8 ชั่วโมง ทางการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือ ทางการกิน Tramadol เป็นยาที่จับกับตัวรับ opioids ได้ต่ำ จึงทำให้ลดอาการปวดได้น้อยเมื่อเทียบกับ opioids ตัวอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเก็บกลับของ serotonin และ noradrenaline (serotonin and noradrenaline reuptake inhibitors)
  • Fentanyl ขนาดยา 2-5 µg/kg ฉีดทางหลอดเลือดดำ (bolus) จากนั้นตามด้วยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำด้วยอัตราคงที่ (constant rate infusion) ด้วยอัตรา 3-6 µg/kg/h นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ยาในรูปแผ่นแปะผิวหนังเพื่อลดการปวดเฉพาะที่
  • Alfentanil ขนาดยา 20-50 µg/kg ฉีดทางหลอดเลือดดำ (bolus) จากนั้นตามด้วยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำด้วยอัตราคงที่ (constant rate infusion) ด้วยอัตรา 30-60 µg/kg/h
  • Sufentanil ขนาดยา 0.2-0.5 µg/kg ฉีดทางหลอดเลือดดำ (bolus) จากนั้นตามด้วยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำด้วยอัตราคงที่ (constant rate infusion) ด้วยอัตรา 6-12 µg/kg/h
  • Butorphanol ขนาดยา 0.2-0.4 mg/kg ทุก 1-2 ชั่วโมง ทางการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือ การฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
ผลข้างเคียงที่มักพบได้จากการใช้ยาในกลุ่ม opioids คือ อาเจียน คลื่นไส้ หัวใจเต้นช้าลง หายใจหอบ เบื่ออาหาร ซึม ท้องผูก และ อุณหภูมิร่างกายต่ำลง เป็นต้น
2. ยากลุ่ม non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) เป็นยาที่มีฤทธิ์ในการลดไข้ ลดการอักเสบ และลดปวด มักใช้ระงับความเจ็บปวดน้อยถึงปานกลาง แต่สามารถระงับความเจ็บปานกลางถึงปวดมากได้เมื่อใช้ร่วมกับยาต้านปวดชนิดอื่น ๆ (multimodal protocol)
กลไกการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่ม NSAIDs คือ ยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase (COX) ซึ่งเป็นเอนไซม์ในการเปลี่ยน arachidonic acid ไปเป็นสารสื่ออักเสบต่าง ๆ ได้แก่ prostaglandins (PGs) และ thromboxanes โดยยาในกลุ่มนี้มักอยู่ในรูปแบบยากิน แต่มีบางชนิดที่อยู่ในรูปแบบยาฉีด
ยากลุ่ม NSAIDs ที่ใช้ในสุนัข ได้แก่
  • Meloxicam
  • - ลดไข้ บรรเทาปวด ระงับอักเสบ ใช้เพื่อระงับความเจ็บปวดชนิดไม่รุนแรงจนถึงปานกลางของระบบกล้ามเนื้อ และกระดูก

    - ขนาดยา 0.2 mg/kg ทางการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือ ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เพียงครั้งเดียว สำหรับแผลผ่าตัด

    - ขนาดยา 0.1 mg/kg ทุก 24 ชั่วโมง ทางการกิน สำหรับแผลผ่าตัด

  • Ketoprofen
  • - ลดไข้ บรรเทาปวด และระงับอักเสบ ใช้เพื่อระงับความเจ็บปวดชนิดไม่รุนแรง และการอักเสบที่เกิดจากเต้านมอักเสบ

    - ขนาดยา 2 mg/kg ทางการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ทางการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือ การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เพียงครั้งเดียวหลังผ่าตัด

    - ขนาดยา 1 mg/kg ทุก 24 ชั่วโมง ทางการกิน สามารถให้ได้นาน 3 วัน สำหรับแผลผ่าตัด

  • Cimicoxib ขนาดยา 2 mg/kg ทุก 24 ชั่วโมง ทางการกิน ให้ยาติดต่อกันได้นาน 4-8 วัน สำหรับแผลผ่าตัด
  • Mavacoxib ขนาดยา 2 mg/kg ทุก 24 ชั่วโมง ทางการกิน ให้ยาวันที่ 0 วันที่ 14 จากนั้นให้ยาเดือนละครั้ง ติดต่อกันได้นาน 5 ครั้ง สำหรับการปวดเรื้อรัง
  • Carprofen
  • - ลดไข้ บรรเทาปวด และระงับอักเสบ โดยเฉพาะการอักเสบจากการผ่าตัด

    - ขนาดยา 4 หรือ 4.4 mg/kg ทางการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือ ทางการกิน ทุก 24 ชั่วโมง ติดต่อกันได้นาน 4 วัน สำหรับแผลผ่าตัด

    - ขนาดยา 2 หรือ 2.2 mg/kg ทางการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือ ทางการกิน ทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกันได้นาน 4 วัน สำหรับแผลผ่าตัด

  • Deracoxib
  • - ลดไข้ บรรเทาปวด และระงับอักเสบ โดยเฉพาะการอักเสบจากการผ่าตัด และข้ออักเสบ

    - ขนาดยา 3-4 mg/kg ทุก 24 ชั่วโมง ทางการกิน ให้ยาติดต่อกันได้นาน 7 วัน สำหรับแผลผ่าตัด

  • Firocoxib
  • - ลดไข้ บรรเทาปวด และระงับอักเสบ โดยเฉพาะการอักเสบจากการผ่าตัด และข้ออักเสบ

    - ขนาดยา 5 mg/kg ทุก 24 ชั่วโมง ทางการกิน สำหรับบรรเทาอาการปวดจากข้ออักเสบ และแผลผ่าตัด

  • Tolfenamic acid
  • - ลดไข้ บรรเทาปวด และระงับอักเสบ ใช้เพื่อระงับความเจ็บปวดได้ทั้งชนิดเฉียบพลัน และเรื้อรัง

    - ขนาดยา 4 mg/kg ทุก 24 ชั่วโมง ทางการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือ ทางการกิน ให้ยาติดต่อกันได้นาน 3-5 วัน จากนั้นสามารถให้ซ้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สำหรับทั้งการปวดเฉียบพลัน และ การปวดเรื้อรัง

ผลไม่พึงประสงค์ของยากลุ่ม NSAIDs ส่วนใหญ่มักเกิดกับระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากเอนไซม์ COX ทำให้ PGs และ thromboxanes ลดลง ทำให้รบกวนกลไกการป้องตนเองของระบบทางเดินอาหารและไต นอกจากนี้ยังมีผลกับการแข็งตัวของเลือด ดังนั้น จึงไม่ควรให้ NSAIDs ร่วมกันกับยาแอสไพริน เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดแผลในทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังควรระวังเมื่อให้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ เนื่องจากทำให้ไตทำงานมากขึ้น ร่วมไปถึงการให้ยาร่วมกับยาที่ยับยั้งเอนไซม์ ACE (ACE-inhibitors) warfarin และ ยาเคมีบำบัด

    3. ยาอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกันเพื่อเสริมฤทธิ์ระงับปวดในสุนัข

  • Ketamine มักใช้ระงับความปวดในระหว่างการผ่าตัด โดยมักให้ก่อนและระหว่างการผ่าตัด ร่วมกับ opioids และ NSAIDs ขนาดที่แนะนำคือ 0.5-1 mg/kg ทางการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งเป็นขนาด loading dose (ในกรณีที่เป็นการผ่าตัดที่สร้างความเจ็บปวดมาก สามารถให้ได้ถึง 2 mg/kg) จากนั้นให้ยาตามด้วยอัตราคงที่ (constant rate infusion) ด้วยอัตรา 0.12-0.6 mg/kg/h
  • Amantadine มักใช้กับสุนัขที่เป็นข้อต่ออักเสบ หรือการปวดเรื้อรังจากระบบประสาทที่เริ่มดื้อต่อยา NSAIDs ขนาดแนะนำในสุนัข คือ 3-5 mg/kg ทุก 24 ชั่วโมง ทางการกิน
  • Gabapentin มักใช้กับการปวดจากระบบประสาททั้งในสุนัขและแมว ขนาดแนะนำในสุนัข คือ 10 mg/kg ทุก 8-12 ชั่วโมง ทางการกิน ในขนาดเริ่มต้น จากนั้นให้ปรับเพิ่มลดขนาดยาโดยพิจารณาจากผลการตอบสนองของสัตว์
  • Amitriptyline และ imipramine มักใช้ร่วมกันกับยาระงับปวดตัวอื่น ๆ เพื่อลดอาการปวดที่เกิดจากระบบประสาท โดยการยับยั้งการเก็บกลับของ catecholamines ขนาดแนะนำในสุนัขของ amitriptyline คือ 1-2 mg/kg ทุก 12-24 ชั่วโมง ทางการกิน และขนาดแนะนำในสุนัขของ imipramine คือ 0.5-1 mg/kg ทุก 8 ชั่วโมง ทางการกิน โดยอาการปวดจะดีขึ้นหลังจากได้รับยาภายใน 48 ชั่วโมง
  • Duloxetine ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการเก็บกลับของ serotonin และ noradrenaline (serotonin and noradrenaline reuptake inhibitors) มักใช้เสริมในสุนัขที่มีการปวดจากระบบประสาท พบรายงานความเป็นพิษจาก serotonin ในสุนัขเมื่อให้ยา tramadol imipramine duloxetine ร่วมกับ fluoxetine หรือ selegiline อาการดังกล่าว ได้แก่ กระวนกระวาย กล้ามเนื้อกระตุก มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว และหายใจเร็ว
  • Prednoleucotropin (PLT) เป็นยาที่มีส่วนผสมของยา 2 ตัว คือ cinchophen ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม NSAIDs และ prednisolone ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม corticosteroids และเป็นยาที่มีใบอนุญาตถูกต้องสำหรับใช้ในการรักษาโรคข้อต่ออักเสบในสุนัขในประเทศสหราชอาณาจักร (United Kingdom)

อ้างอิง

Lascelles, B. D. X., McFarland, J. M., & Swann, H. (2005). Guidelines for safe and effective use of NSAIDs in dogs. Veterinary Therapeutics. 6(3), 237.

Mathews, K., Kronen, P. W., Lascelles, D., Nolan, A., Robertson, S., Steagall, P. V., ... & Yamashita, K. (2014). Guidelines for recognition, assessment and treatment of pain: WSAVA Global Pain Council members and co-authors of this document. Journal of Small Animal Practice. 55(6).