“ปรสิต” นับเป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาสุขภาพที่สำคัญในสุนัขและแมว โดยในปัจจุบันการป้องกันปรสิตนับเป็นหนึ่งในการดูแลสุขภาพที่สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการป้องกันปรสิตที่ดีที่สุดต้องอาศัยการดูแลร่วมกันระหว่างสามปัจจัย ได้แก่ การป้องกันปรสิตในสิ่งแวดล้อม การป้องกันปรสิตในตัวสัตว์ และการระมัดระวังจากเจ้าของ
สำหรับการป้องกันปรสิตในตัวสัตว์มีหลากหลายวิธี แต่วิธีที่ได้ผลดีและสัตว์ควรได้รับอย่างต่อเนื่องคือการรับยาป้องกันปรสิต โดยหนึ่งในกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ในการป้องกันปรสิตได้ดีและมีอยู่ในผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตหลายชนิด คือ ยาในกลุ่ม macrocyclic lactones
Macrocyclic lactones คืออนุพันธ์ทางเคมีซึ่งเป็นผลผลิตจากกระบวนการหมักของแบคทีเรียที่สามารถพบได้ในดิน สกุล Streptomyces ออกฤทธิ์ในการป้องกันปรสิตทั้งภายในและภายนอก เช่น พยาธิตัวกลม (nematode) และสัตว์ขาปล้อง (arthropods) โดยมีรายงานว่ายาในกลุ่มนี้สามารถป้องกันปรสิตได้สูงถึง 300 ชนิด (ในสัตว์หลากหลายสปีชีส์) อย่างไรก็ตาม macrocyclic lactones ไม่ออกฤทธิ์ในการป้องกันพยาธิตัวตืดและพยาธิใบไม้ สัตวแพทย์จึงควรแนะนำให้เจ้าของยังคงถ่ายพยาธิให้แก่สัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอต่อไป
สำหรับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า macrocyclic lactones ออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของ glutamate-gated chloride ion channels ในเซลล์ประสาทของปรสิต (สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง) ส่งผลให้ปรสิตเกิดภาวะ hyperpolarization จากการที่ chloride ion เคลื่อนเข้าสู่เซลล์มากผิดปกติ ส่งผลให้ลดการเกิด action potential อันเป็นผลให้การส่งกระแสประสาทถูกขัดขวาง นอกจากนี้ตัวยายังกระตุ้นการหลั่ง gamma aminobutyric acid (GABA) ในระบบประสาทของปรสิต ซึ่ง GABA จะที่มากผิดปกติจะส่งผลให้การส่งกระแสประสาทถูกยับยั้งมากขึ้นอีกด้วย ด้วยสองปัจจัยที่กล่าวมานี้จึงส่งผลให้ปรสิตเกิดภาวะอัมพาต (flaccid paralysis) และตายลงในท้ายที่สุด ทั้งนี้ฤทธิ์ของยาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นกับสุนัขและแมว หากเจ้าของใช้ยาในขนาดยา (dose) ที่เหมาะสม เนื่องจากตัวยาไม่สามารถผ่าน blood-brain barrier ที่ทำหน้าที่กั้นระหว่างระบบหมุนเวียนเลือดและระบบประสาทส่วนกลางได้ ตัวยาจึงมีความปลอดภัยในสุนัขและแมวสูง อย่างไรก็ตามหากสัตว์ได้รับยาในปริมาณมาก ความเข้มข้นของยาที่สูงอาจทำให้ตัวยาผ่านเข้าสู่ระบบประสาทและรบกวนการหลั่ง GABA จนเกิดผลข้างเคียงตามมาได้
Macrocyclic lactones แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. Avermectin เป็นอนุพันธ์ที่ได้จากการหมักของแบคทีเรีย Streptomyces avermitilis โดยมีตัวยาสำคัญ ได้แก่ ivermectin และ selamectin
2. Milbemycins เป็นอนุพันธ์ที่ได้จากการหมักของแบคทีเรีย Streptomyces hygroscopicus aureolacrimous โดยมีตัวยาสำคัญ ได้แก่ milbemycin oxime
3. Nemadectins ป็นอนุพันธ์ที่ได้จากการหมักของแบคทีเรีย Streptomyces cyaneogriseus noncyanogenus โดยมีตัวยาสำคัญ ได้แก่ moxidectin
ตัวยาในกลุ่ม macrocyclic lactones ที่มักมีการใช้ในสุนัขและแมวที่สัตวแพทย์ควรรู้จัก ได้แก่
กลุ่ม avermectin
1. Ivermectin
Ivermectin คือยาในกลุ่ม avermectin ซึ่งเป็นที่นิยมในอดีต เพราะออกฤทธิ์เป็นวงกว้างต่อการป้องกันปรสิตหลายชนิด ทั้งพยาธิตัวกลมและสัตว์ขาปล้อง เช่น พยาธิในทางเดินอาหาร พยาธิปอด ไรหู ไรขี้เรื้อนผิวหนัง ตลอดจนตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิหนอนหัวใจ เป็นต้น ตัวยาดูดซึมได้ดีผ่านทางการกินในสุนัขและแมว อย่างไรก็ตามพบว่าการใช้ ivermectin จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะในสุนัขพันธุ์คอลลี่และลูกผสมคอลลี่ เนื่องจากมีรายงานการพบภาวะความเป็นพิษจาก ivermectin ในสุนัขพันธุ์นี้สูง โดยจากการศึกษาพบว่าความผิดปกติดังกล่าวเกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการขาดของโปรตีนชนิด P-glycoprotein ซึ่งโปรตีนชนิดนี้มีบทบาทในการผลักตัวยา ivermectin ออกนอกเซลล์ ป้องกันการผ่านของตัวยาเข้าสู่ blood-brain barrier และเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง โดยสุนัขพันธุ์คอลลี่นั้นมีการผ่าเหล่า (mutation) ของยีน MDR1 ซึ่งทำหน้าที่ในการผลิต P-glycoprotein จึงทำให้ประสบปัญหาจากการใช้ยาได้มาก (ถึงแม้จะไม่พบในสุนัขพันธุ์คอลลี่ทุกตัวแต่มีโอกาสพบได้มาก โดยมีรายงานว่าสุนัขพันธุ์คอลลี่ในอเมริกาพบความผิดปกติของยีนดังกล่าวสูงถึง 70%) อย่างไรก็ตามการพบปริมาณ P-glycoprotein ต่ำกว่าปกติอาจพบได้ในสุนัขทุกสายพันธุ์ไม่เฉพาะเพียงในสุนัขพันธุ์คอลลี่ หากใช้ยา ivermectin สัตวแพทย์จึงควรเฝ้าระวังการเกิดผลข้างเคียงในสัตว์อย่างใกล้ชิด
ขนาดยาที่แนะนำสำหรับสุนัข
- สำหรับการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ คือ 6 μg/kg PO เดือนละ 1 ครั้ง
- สำหรับการรักษาปรสิตภายนอก
- ไรขี้เรื้อนแห้ง (sarcoptic mange) และไรหู คือ 300 μg/kg SC 2 ครั้ง ห่างกัน 14 วัน
- ไรขี้เรื้อนเปียก (demodectic mange) คือ 600-1,000 μg/kg SC สัปดาห์ละ 1 ครั้งติดต่อกัน 4-5 สัปดาห์ หรือหากเป็นการรักษากรณีกลับมาเป็นซ้ำ (recurrent) อาจให้ยา 300-600 μg/kg PO SID ติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน โดยในวันแรกอาจเริ่มให้ยา 100 μg/kg แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มขนาดยาวันละ 100 μg/kg จนครบขนาดยาที่ต้องการเพื่อลดโอกาสการเกิดความเป็นพิษของยาลงได้
- สำหรับการป้องกันและรักษาเห็บ เป็นการใช้ยานอกเหนือฉลากยา (extra-label use) ซึ่งอาจให้ผลที่ไม่แน่นอนในสุนัขแต่ละตัว
- สำหรับป้องกันพยาธิภายใน
- พยาธิปอดกลุ่ม Capillaria คือ 200 μg/kg PO
- พยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า คือ 200 μg/kg PO
ขนาดยาที่แนะนำสำหรับแมว
- สำหรับการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจและถ่ายพยาธิปากขอ คือ 24 μg/kg PO ทุก 30-45 วัน
2. Selamectin
Selamectin คือยาในกลุ่ม avermectin ซึ่งมีจุดเด่นคือสามารถดูดซึมได้อย่างรวดเร็วผ่านทางผิวหนัง จึงมีการนำตัวยามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หยดหลังซึ่งมีความสะดวก สามารถให้ได้ง่าย โดยภายหลังจากสุนัขและแมวได้รับยา ตัวยาจะมีความเข้มข้นสูงสุดในพลาสมาภายใน 72 ชั่วโมง และตัวยาจะกระจายไปสะสมอยู่ที่ไขมันและค่อย ๆ ปล่อยออกสู่กระแสเลือดอย่างสม่ำเสมอ selamectin ออกฤทธิ์ครอบคลุมปรสิตที่พบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยงหลายชนิด เช่น พยาธิหนอนหัวใจ เห็บ หมัด ไรหู ไรขี้เรื้อนผิวหนัง พยาธิตัวกลม และพยาธิปากขอ เป็นต้น อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าตัวยาดังกล่าวจะออกฤทธิ์ได้ดี แต่อาจพบการแพ้ยา เช่น ขนร่วงบริเวณที่หยดยา ได้บ้าง
ขนาดยาที่แนะนำสำหรับสุนัขและแมว คือ 6 mg/kg โดยการหยดหลัง เดือนละ 1 ครั้ง
กลุ่ม milbemycins
1. Milbemycin oxime
Milbemycin oxime คือยาในกลุ่ม milbemycins ที่ออกฤทธิ์ได้ดีในการป้องกันพยาธิตัวกลมและสัตว์ขาปล้อง ดูดซึมได้ดีและรวดเร็วผ่านทางการกิน milbemycin oxime ออกฤทธิ์ครอบคลุมปรสิตที่พบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยงหลายชนิด เช่น ไรขี้เรื้อน พยาธิหนอนหัวใจ (จากการศึกษาพบว่าออกฤทธิ์ได้ดีและรวดเร็วกว่า ivermectin) พยาธิในระบบทางเดินอาหาร เช่น พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน และพยาธิแส้ม้า เป็นต้น ปัจจุบันตัวยาดังกล่าวมักนำไปผสมรวมกับยาป้องกันปรสิตในกลุ่มอื่นในรูปยาสูตรผสม (combination drug) เพื่อเสริมฤทธิ์ในการป้องกันปรสิตให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เช่น milbemycin oxime กับ afoxolaner หรือ milbemycin oxime กับ praziquantel เป็นต้น
ขนาดยาที่แนะนำสำหรับสุนัข
- สำหรับการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน และพยาธิแส้ม้า คือ 0.5-1 mg/kg เดือนละ 1 ครั้ง
- สำหรับการรักษาไรขี้เรื้อนเปียก คือ 0.5-2 mg/kg SID ติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 เดือน
ขนาดยาที่แนะนำสำหรับแมว
- สำหรับการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ คือ 0.5-1 mg/kg เดือนละ 1 ครั้ง
กลุ่ม nemadectins
1. Moxidectin
Moxidectin คือยาในกลุ่ม nemadectins ที่ออกฤทธิ์ได้ดีในการป้องกันพยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ และพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข มีความชอบในการจับกับทั้งเนื้อเยื่อไขมันและน้ำทำให้สามารถคงอยู่ในร่างกายได้นาน (ค่าครึ่งชีวิตประมาณ 19 วัน) โดยยาชนิดนี้ควรใช้ในรายที่ได้รับการตรวจแล้วว่าไม่มีพยาธิหนอนหัวใจทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยอยู่ภายในร่างกายและไม่ควรฉีดในสุนัขที่ได้รับการฉีดวัคซีนมาไม่เกิน 1 เดือน ปัจจุบันตัวยาดังกล่าวมักนำไปผสมรวมกับยาป้องกันปรสิตในกลุ่มอื่นในรูปยาสูตรผสม (combination drug) เพื่อเสริมฤทธิ์ในการป้องกันปรสิตให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เช่น moxidectin กับ praziquantel หรือ moxidectin กับ imidacloprid เป็นต้น
ขนาดยาที่แนะนำสำหรับสุนัข
- สำหรับการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ คือ 3 μg/kg PO เดือนละ 1 ครั้ง
- สำหรับการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจและพยาธิปากขอ คือ 0.17 mg/kg SC ทุก 6-12 เดือน
- สำหรับการรักษาโรคไรขี้เรื้อนผิวหนัง (demodicosis) คือ 0.2-0.4 mg/kg PO SID ติดต่อกันเป็นเวลา 75 วัน
การป้องกันปรสิตคือหัวใจสำคัญของการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง สัตวแพทย์ควรทำความเข้าใจถึงกลุ่มยาและตัวยาแต่ละชนิดก่อนแนะนำให้เจ้าของเลือกใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดและความปลอดภัยของสุนัขและแมว อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตเป็นประจำแล้ว การดูแลในด้านอื่น ๆ เช่น การรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการระมัดระวังของเจ้าของสัตว์ก็นับเป็นสิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้ นี่เองจึงนับเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่สัตวแพทย์ควรให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าของเพื่อช่วยให้เจ้าของสามารถดูแลสัตว์เลี้ยงของตนได้อย่างเหมาะสมต่อไป
เอกสารอ้างอิง
1. Carly, P., 2021. Selamectin Use in Companion Animals. [online]. Available : https://todaysveterinarypractice.com/pharmacology/selamectin-use-in-companion-animals/. Accessed date : 14 July 2023.
2. Emily, S., 2022. Moxidectin. [online]. Available : https://todaysveterinarypractice.com/pharmacology/moxidectin-for-dogs/. Accessed date : 16 July 2023.
3. Piyarat, C., 2015. Macrolide endectocides. ยาต้านปรสิตทางสัตวแพทย์. p18-27.
4. Rania, G., 2023. Milbemycin Oximes. [online]. Available : https://vcahospitals.com/know-your-pet/milbemycin-oxime. Accessed date : 16 July 2023.