โรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัขเป็นหนึ่งในโรคที่สามารถพบได้ทั่วไปและมีรายงานการแพร่ระบาดมาแล้วทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โรคดังกล่าวมีสาเหตุมาจากพยาธิหนอนหัวใจซึ่งมียุงเป็นพาหะนำโรค การระบาดของโรคยังคงพบได้ในปัจจุบันโดยมีรายงานว่าภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การแพร่ระบาดของโรคมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น บทความนี้จะพาคุณหมอไปทบทวนและทำความรู้จักกับพยาธิหนอนหัวใจ ภัยร้ายที่มากับยุง พร้อมแนวทางในการป้องกันโรคเพื่อที่คุณหมอจะสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปมอบให้แก่เจ้าของ ได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
พยาธิหนอนหัวใจในสุนัขเป็นพยาธิตัวกลมที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dirofilaria immitis จัดอยู่ใน Phylum Nematode, Class Secertenea, Order Spirurida และ Family Onchocercidae ซึ่งเป็นพยาธิที่มียุงเป็นพาหะและมีสุนัขเป็นโฮสต์แท้ สามารถพบได้บ้างในแมว และนอกจากนี้ในต่างประเทศยังสามารถพบได้ในสุนัขป่า สุนัขจิ้งจอก แมวป่าบอบแคต และเฟอร์เร็ตอีกด้วย จากการศึกษาพบว่าวงชีวิตของพยาธิหนอนหัวใจจะเจริญเติบโต และอาศัยอยู่ภายในระบบหมุนเวียนเลือดของโฮสต์เป็นหลัก และมีระยะเวลาในการพัฒนาจากตัวอ่อนเป็นตัวเต็มวัยค่อนข้างนานเมื่อเทียบกับพยาธิตัวกลมชนิดอื่น (ประมาณ 7-9 เดือน) โดยสามารถแบ่งระยะของการเจริญเติบโตออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะตัวอ่อน (microfilaria) และระยะโตเต็มวัย (adult)
Image
รูปที่ 1 วงชีวิตของพยาธิหนอนหัวใจในสุนัขและแมว (American Heartworm Society, 2022.)
วงชีวิตของพยาธิหนอนหัวใจสามารถอธิบายได้ดังนี้
1. ยุงที่เป็นพาหะของพยาธิหนอนหัวใจจะมีตัวอ่อนระยะไมโครฟิลาเรีย (microfilaria) ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ซึ่งเป็นตัวอ่อนระยะติดต่ออยู่ภายในร่างกาย โดยระยะเวลาในการพัฒนาของตัวอ่อนจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมที่ยุงอยู่อาศัย เมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ตัวอ่อนจะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองเข้าสู่ระยะติดต่อได้เร็วขึ้น โดยเฉลี่ยจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาประมาณ 10-14 วัน เมื่อยุงดูดเลือดจากสุนัข ยุงจะใช้ปากที่มีลักษณะเป็นแท่ง (stylet) แทงเข้าที่ผิวหนังของสุนัข ปากของยุงจะมีการปล่อยน้ำลายที่มีตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจออกมาด้วย ตัวอ่อนจะเคลื่อนที่จากยุง เข้าสู่สุนัขผ่านทางรอยดูดเลือดดังกล่าว
2. ตัวอ่อนระยะที่ 3 ที่เข้าสู่ร่างกายสุนัขจะพัฒนาต่อไปเป็นตัวอ่อนระยะที่ 4 ภายในระยะเวลาประมาณ 3-4 วัน และตัวอ่อนระยะที่ 4 จะเคลื่อนที่ผ่านกล้ามเนื้อเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือด โดยในช่วงเวลานี้ตัวอ่อนระยะที่ 4 จะพัฒนาต่อไปเป็นระยะก่อนเป็นตัวเต็มวัย (juvenile/immature adult) โดยอาศัยระยะเวลาประมาณ 45-65 วัน และไหลเวียนไปพร้อมกับกระแสเลือดทั่วร่างกาย
3. ตัวอ่อนระยะก่อนเป็นตัวเต็มวัยที่อาศัยอยู่ภายในกระแสเลือดของสุนัขจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย (mature adult) โดยอาศัยระยะเวลาประมาณ 4-5 เดือน ซึ่งการเจริญเติบโตนี้ก่อให้เกิดการเปลียนแปลงในขนาดของพยาธิหนอนหัวใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในพยาธิหนอนหัวใจเพศเมีย จากตัวอ่อนที่มีความยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว พยาธิหนอนหัวใจเพศเมียจะเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า จนมีความยาวประมาณ 10-12 นิ้ว พยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยเหล่านี้มักก่อให้เกิดการอุดตันภายในหลอดเลือด pulmonary artery ที่บริเวณปอด และหัวใจห้องล่างขวา (right ventricle) ซึ่งก่อให้เกิดความผิดปกติของโรคพยาธิหนอนหัวใจ หากพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยมีการสะสมมากกว่า 40 ตัวขึ้นไปจะเป็นสาเหตุในการเกิดภาวะพยาธิหนอนหัวใจอุดตัน หรือ caval syndrome ซึ่งเป็นภาวะอันตรายของโรคตามมาได้ ทั้งนี้ระยะเวลาตั้งแต่เกิดการติดเชื้อจนพยาธิหนอนหัวใจเติบโตเป็นตัวเต็มวัยใช้ระยะเวลาไปประมาณ 6-7 เดือน
4. ในช่วงต้นของการติดโรค ตั้งแต่สุนัขรับตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจเข้าสู่่ร่างกายจนถึงก่อนที่พยาธิหนอนหัวใจจะเจริญเติบโตเต็มที่ เรียกระยะนี้ว่า “ระยะก่อนการพบการติดพยาธิอย่างชัดเจน” หรือ prepatent infection และหลังจากนั้นเมื่อสุนัขมีพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยภายในร่างกาย (4-5 เดือน หรือ 120 วันเป็นต้นไปหลังติดพยาธิ) จะเข้าสู่ “ระยะที่พบการติดพยาธิอย่างชัดเจน” หรือ patent infection ซึ่งเป็นระยะที่พยาธิหนอนหัวใจเกิดการขยายพันธุ์ และจะสามารถพบตัวอ่อนระยะไมโครฟิลาเรีย ในกระแสเลือดได้ โดยมักตรวจพบภายหลังการติดพยาธิประมาณ 6 เดือนเป็นต้นไป ทั้ง 2 ระยะนี้มีความสำคัญต่อการพิจารณาการให้ยารักษา เนื่องจากระยะต่าง ๆ มีความไวต่อการตอบสนองต่อยาที่แตกต่างกันไปซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จมากขึ้น (สามารถศึกษาเพิ่มเติมถึงรายละเอียดของยาแต่ละชนิด และ protocol การรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจได้จาก Current Canine Guidelines for the Prevention, Diagnosis and Management of Heartworm (Dirofilaria immitis) Infection in Dogs โดย American Heartworm Society)
5. สุนัขที่มีตัวอ่อนระยะไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือด เมื่อถูกยุงกัด ยุงจะรับเอาตัวอ่อนเข้าสู่ร่างกาย และพยาธิหนอนหัวใจจะเกิดการพัฒนาต่อไปดังที่กล่าวมาข้างต้น ด้วยเหตุนี้เองการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจจึงจำเป็นต้องทำร่วมกันระหว่างการแนะนำให้เจ้าของใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจที่เหมาะสม และการควบคุมประชากรยุงในสิ่งแวดล้อมให้ลดน้อยที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมโรคพยาธิหนอนหัวใจที่ดีที่สุด
แนวทางการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข
แนวทางการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจที่สัตวแพทย์สามารถแนะนำให้แก่เจ้าของได้ แบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. การดูแลสิ่งแวดล้อม: มีจุดประสงค์เพื่อลดจำวนยุงซึ่งเป็นพาหะของพยาธิหนอนหัวใจ และลดโอกาสการโดนยุงกัดของสุนัข ควรแนะนำให้เจ้าของดูแลสิ่งแวดล้อมรอบบ้านเพื่อลดโอกาสการสะสมของแหล่งน้ำขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงให้มากที่สุด ใช้ผลิตภัณฑ์จำกัดยุงที่มีความปลอดภัย และหลีกเลี่ยงการพาสุนัขไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มียุงเป็นจำนวนมาก
2. การให้ผลิตภัณฑ์ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจที่มีความปลอดภัย: มีจุดประสงค์เพื่อป้องกัน และกำจัดตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจเมื่อสุนัขถูกยุงซึ่งเป็นพาหะกัด โดยในปัจจุบันองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้สามารถใช้ยากลุ่ม macrocyclic lactones เช่น ivermectin, milbemycin oxime, moxidectin และ selamectin ในการป้องกันการติดพยาธิหนอนหัวใจได้ ซึ่งยากลุ่มนี้เป็นยากลุ่มที่ได้รับการทดสอบ และทดลองพบว่ามีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง โดยจะออกฤทธิ์ในการกำจัดตัวอ่อนในทุกระยะ และสามารถออกฤทธิ์กำจัดพยาธิระยะก่อนเป็นตัวเต็มวัยและตัวเต็มวัยได้ หากมีการให้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ควรให้ยาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของยาแต่ละชนิด และสามารถเริ่มการป้องกันได้ตั้งแต่ลูกสุนัขมีอายุตั้งแต่ 8 สัปดาห์เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามถึงแม้จะได้รับการป้องกันอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงแนะนำให้เจ้าของพาสุนัขมารับการตรวจที่อายุ 6 เดือน และ 1 ปี หลังจากนั้นทำการตรวจซ้ำอีกเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นประจำทุกปีเพื่อเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. American Heartworm Society. 2020. Current Canine Guidelines for the Prevention, Diagnosis and Management of Heartworm (Dirofilaria immitis) Infection in Dogs. [online]. Available : https://d3ft8sckhnqim2.cloudfront.net/images/pdf/AHS_Canine_Guidelines_11_13_20.pdf?1605556516. Accessed date : 14 February 2023.
2. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). 2019. Dirofilariasis. [online]. Available : https://www.cdc.gov/dpdx/dirofilariasis/index.html. Accessed date : 14 February 2023.
3. Kotani, T. and Powers, KG. 1982. Developmental stages of Dirofilaria immitis in the dog. Am J Vet Res. 43 : 2199- 2206.
4. Taylor, AE. 1960. The development of Dirofilaria immitis in the mosquito Aedes aegypti. J Helminthol. 34 : 27-38.